วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

โครงสร้างทางกาพภาพของนก

กำเนิดนก

     นกเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน โดยมีโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเกล็ดขาที่มีลักษณะเป็นเกล็ดเช่นเดียวกัน รวมทั้งการออกไข่และตัวอ่อนมีฟันพิเศษสำหรับเจาะเปลือกไข่ออกมาเหมือนกัน ทั้งนี้จากหลักฐานที่ยืนยันทฤษฎีดังกล่าว คือ การขุดพบซากดึกดำบรรพ์อายุประมาณ 130 ล้านปีที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน เมื่อปี พ . ศ . 2504 ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว มีลักษณะกึ่งนกกึ่งสัตว์เลื้อยคลาน คือ ที่ปากมีฟัน มีเล็บยื่นออกมาจากหัวปีกและมีกระดูกหางยาว ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ขณะเดียวกันก็มีขนปกคลุมลำตัวเช่นเดียวกับนก นักวิทยาศาสตร์เรียกซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบชิ้นนี้ว่า อาร์คีออพเทอริกซ์ ซึ่งถือกันว่าเป็นบรรพบุรุษของนก  

 

















            อาร์คีออพเทอริกซ์ (archaeopteryx)


วิวัฒนาการของนก 

     หลังจากที่อาร์คิออพเทอริกซ์ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี ผ่านช่วงวิวัฒนาการหลายยุคหลายสมัย จึงเกิดต้นตระกูลของนกชนิดต่าง ๆ มากมายตามสภาพแวดล้อม โดยมีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปทรงภายนอกและโครงสร้างภายใน ตลอดจนอวัยวะต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การบิน โดยขาหน้าได้พัฒนากลายเป็นปีกสำหรับบิน ลำตัวมีลักษณะเพรียว ไม่มีอวัยวะที่จะทำให้เกิดแรงต้าน โครงกระดูกถูกปรับเปลี่ยนให้มีขนาดเล็กลงรวมกลุ่มกันอยู่ตอนกลาง มีคอ ปีก และขาติดกันอยู่ กระดูกสันหลังสั้นเชื่อมติดกันโดยตลอด ด้านท้ายเป็นกระดูกตะโพกที่ยาวเรียวแค่แข็งแรง กระดูกอกใหญ่มีสันสูงตรงกลางเป็นที่ยึดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ใช้ในการบิน ระหว่างกระดูกสันหลังกับกระดูกอกมีกระดูกซี่โครงชุดหนึ่งยึดตามแนวตั้ง เป็นแกนช่วยพยุงทางด้านข้าง กระดูกซี่โครงแต่ละอันมีแขนงก้านหนึ่งยื่นไปซ้อนทับกับกระดูกซึ่โครงอันถัด ไปทำให้มีโครง ร่างแข็งแรงยิ่งขึ้นช่วยป้องกันอวัยวะภายในที่อยู่ในโครงกระดูกได้อย่างดี นอกจากนี้กระดูกนกยังมีลักษณะกลวงเป็นโพรงภายใน ทำให้มีน้ำหนักเบา สามารถพยุงตัวในอากาศได้ง่ายและมีถุงลมกระจายอยู่ทั่วตัว เพื่อช่วยในการหายใจ เนื่องจากนกจำเป็นต้องใช้อากาศเป็นจำนวนมากระหว่างบิน

ขนนก

     ขน (feather) ปกคลุมลำตัวของนกเป็นโครงสร้างพิเศษที่พบได้เฉพาะในนกเท่านั้น ขนนกเกิดจากเซลล์ที่อยู่ภายใต้ผิวหนังค่อย ๆ ขยายตัวขึ้นเป็นตุ่มแข็ง แล้วงอกยาวขึ้นเป็นฝักรูปกระสวยฝังลึกลงไปในเนื้อเยื่อของผิวหนังชั้นใน เพื่อรับเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเป็นอาหาร ต่อมาจึงค่อย ๆ สร้างก้านขนและเส้นขน เมื่อโตเต็มที่กระสวยจึงแยกออกโผล่ขึ้นมาเป็นขนนก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ โครงสร้างของก้านขนและเส้นขนจะแข็ง เพราะเป็นโครงสร้างที่ตายแล้ว เมื่อถึงระยะเวลาผลัดขนจึงจะหลุดร่วงไป
ขนนกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
     1. ขนคอนทัวร์ (contour) เป็นขนที่พบมากที่สุดบนตัวนก คลุมอยู่ชั้นนอกสุด ไม่ว่าจะเป็นขนปกคลุมตัว ขนปีก และขนหาง เป็นขนที่บอกรูปร่างและสีสันของนกแต่ละตัว และทำหน้าที่ในการทรงตัวปรับทิศทางขณะบิน
     2. ขนดาวน์หรือขนอุย (down) เป็นขนที่สั้นและนุ่มมาก ก้านขนด้านนอกสั้นหรือไม่มีเลย ขนดาวน์ซ่อนอยู่ใต้ขนคอนทัวร์ และพบมากกกับลูกนกที่เพิ่งฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ทำหน้าที่ช่วยรักษาความร้อนไม่ให้สูญเสียไปจากร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น




     ขนนกไม่ได้ขึ้นปกคลุมทั่วทั้งตัวนก แต่ที่เราเห็นเหมือนขนปกคลุมทั่วตัวนก เพราะเส้นขนเรียงตัวเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบ แนวขนที่สำคัญมี 2 แนวคือ
     1. แนวทางขนปีก เป็นแนวทางที่อยู่บนปีก จำแนกออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
  • ขนปลายปีก (primary feather) เป็นขนที่อยู่บริเวณปลายปีก
  • ขนกลางปีก (secondary feather) เป็นขนที่อยู่บริเวณกลางปีก ขนปลายปีกและขนกลางปีกมีขนาดใหญ่แข็งแรง มีความสำคัญในการบิน
  • ขนคลุมปีก (wing covert) เป็นขนขนาดเล็กอยู่ด้านบนของปีก คลุมโคนก้านขนปลายปีกและขนกลางปีก
  • ขนปีกน้อย (alula) เป็นก้านขนสามสี่เส้นอยู่ที่กระดูกนิ้ว ช่วยให้เกิดช่องอากาศเล็กๆ สำหรับเพิ่มพื้นผิว ช่วยบังคับความเร็วของการบินเมื่อเวลาร่อนลงหรือหยุดเกาะ
     2. แนวทางขนหาง เป็นขนที่อยู่ส่วนหาง มี 2 ส่วน คือ
  • ขนหางเป็นขนที่อยู่ปลายสุดของหางทำหน้าที่เป็นหางเสือสำหรับบังคับทิศ ทางและ รักษาการ ทรงตัวขณะบินอยู่ในอากาศ นกบางชนิดสามารถแผ่ขนหางได้ เช่น ไก่งวง
  • ขนคลุมหาง มีอยู่หลายแถวติดกับขนหาง นกบางชนิดก็แผ่ขนคลุมหางได้ เช่น นกยูง




     นอกจากมีสีสันสวยงามแล้ว ขนนกยังช่วยปกคลุมลำตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งมีคมและความร้อนจากแสง อาทิตย์ รวมทั้งช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่โดยขยับขนให้ตั้งขึ้นหรือแนบ ชิดกับลำตัวที่สำคัญที่สุดคือ ขนนกทำหน้าที่ในการบินและลอยตัวกลางอากาศ

     สีของขนนกเกิดจากเม็ดสีต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นสีเหลือง แดง เขียว ฯลฯ ต่างกันออกไป สำหรับนกที่ไม่มีเม็ดสีจะมีขนเป็นสีขาว เช่น นกยาง นกนางนวล ฯลฯ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสีขนคือ การสะท้อนและหักเหของแสง อันเป็นผลจากคุณสมบัติทางกายภาพของเส้นขน สีของขนนกมีความสำคัญ คือ ช่วยพรางตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการหลบซ่อนศัตรูหรือเพื่อซุ่มจับเหยื่อ และช่วยดึงดูดเพศตรงข้ามในฤดูผสมพันธุ์

ลำพวยก๊าซ


     นกต้องดูแลขนของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้าขนสกปรกจะทำให้ขนปีกติดกัน และนกอาจตกลงมาในเวลาบินได้ ทั้งยังเป็นการขับไล่แมลงและไรที่เกาะหากินอยู่บนตัวนก นกบางชนิดใช้วิธีอาบน้ำด้วยการจุ่มหัวลงไปในน้ำอย่างรวดเร็ว แล้วใช้ปีกตีน้ำให้กระเซ็นไปทั่วตัว ส่วนนกที่ไม่ชอบลงมายังพื้นดินจะออกมาอาบน้ำโดยการตากฝน เช่น นกเงือก นกที่บินร่อนโฉบได้เก่ง เช่น นกนางแอ่น นกแซงแซว จะใช้วิธีโฉบลงไปที่ผิวน้ำ เพื่อให้ตัวเปียกอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากอาบน้ำแล้ว นกจะไซ้ขนโดยสะบัดลำตัวให้น้ำกระเซ็นออกมา แล้วใช้ปากแตะที่ต่อมน้ำมันตรงโคนหาง ซึ่งจะถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำมันออกมา เมื่อโดนปากของนกไปแตะจากนั้นนกจะนำน้ำมันที่ติดอยี่ที่ปากไซ้และลูบไล้ไป ตามเส้นขนจนเรียบ แห้งสวยงามพวกนกน้ำ เช่น นกเป็ดน้ำ จะใช้ต่อมน้ำมันทาตามขน เพื่อไม่ให้ขนเปียกขณะที่อยู่ในน้ำ

ปีกและการบิน

     การบินของนกเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อน โดยมีปีกเป็นตัวหลักในการพยุงตัวให้อยู่ในอากาศ และผลักดันให้เคลื่อนที่ไปในอากาศได้ ปีกของนกเมื่อมองในด้านตัดจะมีรูปร่างเพรียวลม ด้านบนโค้งนูน ส่วนด้านล่างเว้า เมื่อขอบปีกด้านหน้าปะทะกับอากาศในเวลาที่นกกระพือปีก ความแตกต่างของความกดอากาศดังกล่าว ทำให้เกิดการลอยตัวยกให้นกลอยสูงขึ้นได้ และหากขอบหน้าของปีกนกถูกยกขึ้นให้สัมพันธ์กับทิศทางของการเคลื่อนไหว มีผลให้นกลอยตัวสูงขึ้นตามไปด้วย  สิ่งที่ทำให้นกสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้นั้นอยู่ที่นกใช้การกระพือปีกดันให้ตัวเองบินไปข้างหน้า ไม่ได้กระพือปีกขึ้นลงแบบธรรมดา เมื่อปีกของนกกางออกเต็มที่ เวลากระพือลงบริเวณปลายปีกจะหมุนไปรอบๆ และดันให้อากาศผ่านไปทางข้างหลัง ทำให้นกพุ่งตัวไปข้างหน้า และนกจะกระพือปีกขึ้นกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะกระพือลงให้นกเคลื่อนที่ ไปข้างหน้าได้อีกครั้ง เมื่อนกกระพือปีกติดต่อกัน จึงทำให้สามารถบินไปมาในอากาศได้ และในเวลาที่ต้องการลงเกาะกิ่งไม้ นกต้องเหยียดขาไปข้างหน้า พร้อมกับแผ่ปีกและกางขนหางออกเพื่อชะลอความเร็วก่อนหยุดบิน


     นอกจากนี้ขนนกยังมีบทบาทกำหนดลักษณะการบินของนกให้แตกต่างกัน โดยขนปลายปีกจะทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่และผลักดันลำตัวไปข้างหน้า ส่วนขนกลางปีกเป็นขนปีกที่ส่วนบนโค้ง ส่วนล่างแบนใช้ในการลอยตัว สำหรับขนหางมีความสำคัญสำหรับเป็นหางเสือช่วยการทรงตัวในระหว่างบิน ช่วยบังคับทิศทางและชะลอความเร็วเมื่อจะหยุดบิน

     ปีกของนกมีขนาดและรูปร่างต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของนกแต่ละชนิด ดังนี้
  • ปีกแคบและยาว เหมาะสำหรับการร่อนโดยเฉพาะ พบในนกทะเลที่ชอบร่อนเหนือน้ำทั้งวันโดยแทบไม่กระพือปีกเลย เช่น นกบู๊บบี้ (ภาพ A)
  • ปีกแคบและสั้น เหมาะสำหรับการบินเร็วๆ ช่วงสั้น ส่วนใหญ่พบในนกที่อาศัยอยู่ตามป่า เช่น นกเขา นกปรอด (ภาพ B)
  • ปีกโค้งใหญ่และปลายขนปีกแยกจากกัน สำหรับร่อนที่สูงช่วยให้นกบินลอยตัวได้สูงขึ้นและร่อนตามลมได้ดี พบในนกขนาดใหญ่ที่ร่อนหากินระดับสูง เช่น นกอินทรี แร้ง (ภาพ C)
  • ปีกแบน เรียวบาง และ ลู่ไปทางด้านท้าย ช่วยให้บินได้เร็วและเลี้ยวไปมาอย่างคล่องแคล่ว พบในนกที่บินหากินตลอดเวลา เช่น นกนางแอ่น และนกที่บินย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลๆ เช่น นกชายเลน (ภาพ D)
 

      การบินของนกยังมีรูปแบบต่างกันออกไป 4 แบบ
     1. การบินโบกปีก (flapping) เป็นการบินโบกปีกขึ้นลง แบบที่เห็นนกบินทั่วไป นกขนาดใหญ่จะประสบปัญหาเมื่อเริ่มต้นบิน ต้องใช้วิธีต่างๆ เพื่อช่วยพยุงตัว นกอินทรีใช้วิธีโผลงจากที่สูง นกยางใช้ขายาวผลักตัวให้ขึ้นไปในอากาศก่อน แล้วจึงกระพือปีก ส่วนนกที่หากินบนน้ำ เช่น นกกระทุง จะใช้เท้าที่เป็นพังผืดวิ่งพุ้ยไปบนน้ำระยะหนึ่งก่อนจึงออกบิน
     2. การบินร่อนลดระดับ (gliding) เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุดของการบิน เพียงทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้าให้มากกว่าแรงด้านของอากาศ นกก็สามารถร่อนและลดระดับลงต่ำได้
      3. การบินร่อนรักษาระดับ (soaring) โดยไม่ต้องโบกปีกเลย ส่วนใหญ่ต้องเป็นนกขนาดใหญ่ถึงจะร่อนแบบนี้ได้โดยไม่เสียการทรงตัว นกที่มีปีกกว้างใหญ่ เช่น นกอินทรีจะอาศัยอากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นจากพื้นดินช่วยพยุงตัวให้ร่อนอยู่ กลางอากาศ ส่วนนกทะเลที่มีปีกแคบเรียวยาวจะใช้กระแสลมช่วยพัดตัวพุ่งไปข้างหน้า และจะร่อนอยู่ด้วยแรงเฉื่อยจนมีกระแสลมพัดมาใหม่
     4. การบินทรงตัวอยู่กับที่ (hovering) เป็นการบินโดยกระพือปีกเร็วๆ จนเกิดแรงยกต้านแรงโน้มถ่วงของโลกให้ทรงตัวนิ่งอยู่กลางอากาศ ส่วนใหญ่เป็นนกตามทุ่งโล่ง เช่น เหยี่ยวขาว นกกะเต็นปักหลัก
      อย่างไรก็ตามมีนกหลายชนิดบินไม่ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการบิน ปีกจึงหดเล็กลงจนใช้บินไม่ได้เลย เช่น นกกระจอกเทศ ซึ่งเดินหากินอยู่ตามทุ่งโล่ง ไม่จำเป็นต้องบินหาอาหาร จึงมีขายาวสำหรับวิ่งแทนการใช้ปีกบิน นกเพนกวินที่อาศัยอยู่แถบขั้วโลกใต้ ปีกพัฒนาให้ทำหน้าที่คล้ายครีบสำหรับว่ายน้ำจับสัตว์น้ำกินอย่างคล่องแคล่ว

ปาก

     นกมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากปากในการดำรงชีวิตหลายประการ ทั้งนี้นกสามารถใช้ปากทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นการจิกฉวยสิ่งของ กินอาหาร สร้างรังหรือช่วยป้องกันตัว ปากของนกมีแผ่นแข็งเป็นปลอกหุ้มอยู่ บริเวณใกล้โคนปากด้านบนยกสูงเป็นเส้นเล็กน้อย และมีช่องจมูกเปิดออกตรงบริเวณนี้ นกแต่ละชนิดมีปากต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับอาหารที่กิน
  • นกกินเนื้อสัตว์ มีปากงองุ้มแหลมคม เพื่อฉีกเหยื่อเป็นชิ้น ๆ ก่อนกลืนลงไป เช่น เหยี่ยว นกเค้า
  • นกกินเมล็ดพืช มีปากสั้นแข็งแรง เพื่อขบเมล็ดพืชที่มีเปลือกให้แตก เช่น นกกระจาบ นกกระติ๊ด
  • นกกินปลา มีปากยาวแหลมตรง เพื่อจับสัตว์น้ำได้อย่างรวดเร็ว เช่น นกยาง นกกะเต็น ส่วนนกอ้ายงั่ว จะใช้ปากแหลมพุ่งแทงทะลุตัวปลา แล้วจึงโผล่มากินบนผิวน้ำ สำหรับนกกาน้ำที่มีปากยาวเช่นกัน แต่ตรงปลายปากจะงุ้มแหลมลงมาเพื่อจับปลาไม่ให้หลุด นกปากห่างมีปากแบบพิเศษที่มีช่องตรงกลาง ปากแยกห่างออกจากกัน เพื่อใช้คาบหอยโข่งที่กลมลื่นไม่ให้หลุด
  • นกกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ มีปากเรียวยาวและโค้งลงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสอดเข้าไปในเกสรดอกไม้ได้ แล้วใช้มีลิ้นแบบพิเศษที่พับเป็นหลอดยื่นออกจากปากเพื่อดูดน้ำหวาน เช่น นกกินปลี
  • นกกินแมลง มีปากสั้นแบนกว้าง และมีขนแข็งที่โคนปากไว้ช่วยต้อนแมลงเข้าปาก เช่น นกตบยุง นกแอ่น ส่วนนกหัวขวานมีปากขนาดใหญ่ยาวตรงและแข็งแรง ไว้สำหรับเจาะต้นไม้หาหนอนหรือแมลงเป็นอาหาร และยังมีกะโหลกแข็งแรงเป็นพิเศษ สามารถทนแรงกระแทกเวลาเจาะต้นไม้ได้ดี
  • นกเป็ดน้ำมีปากแบนใหญ่เพื่อใช้ไซ้หาอาหารในน้ำ ขณะที่นกชายเลนส่วนใหญ่มีปากเรียวยาวและเล็ก เพื่อใช้จิ้มลงไปจับสัตว์เล็กๆ ในเลนกินเป็นอาหาร บางชนิดปากตรง เช่น นกตีนเทียน บางชนิดโค้งลง เช่น นกอีก๋อย บางชนิดงอนขึ้น เช่น นกชายเลนปากงอน
 ภาพแสดงลักษณะของปากนกแบบต่าง ๆ 
(A) ปากเป็ดมอลลาร์ดที่กินอาหารโดยการกรอง 
(B) ปากบนสั้นปากล่างยาวของนกกรีดน้ำ (Skimmers) 
(C) ปากยาวและส่วนปลายของจะงอยปากบนยืดหยุ่นได้สำหรับจิกกินอาหารในดินโคลนของนกปากซ่อม (Woodcocks) 
(D) ปากที่มีขอบหยักสำหรับยึดจับปลาที่ลื่นของเป็ดปากยาว (Mergansers) 
(E) ปากงองุ้มเป็นตะขอสำหรับฉีกเหยื่อของพวกเหยี่ยว (Hawks) 
(F) ปากสำหรับกินแมลงของนกหัวขวาน (Downy Woodpecker) 
(G) ปากกรวยสำหรับกินพวกเมล็ดธัญพืช
 (H) ปากแหลมคมและมีขนแข็งบริเวณมุมปากสำหรับโฉบจับแมลงกลางอากาศของพวกนกจับแมลง

ขาและตีนนก

     แม้นกจะเป็นสัตว์ที่มีปีกและบินได้ แต่ยังต้องพึ่งพาขาและตีนในการดำรงชีวิตอย่างมาก นกจำเป็นต้องใช้ตีนเพื่อเกาะ เดิน ว่ายน้ำ บางชนิดใช้ตีนส่งอาหารเข้าปาก เช่น นกแก้ว ขาและตีนของนกมีวิวัฒนาการให้เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่ง นกแต่ละชนิดจึงมีลักษณะของขาและตีนแตกต่างกัน ดังนั้นขาที่ปรับตัวและมีประโยชน์ในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง อาจไม่มีประโยชน์ในสภาพแวดล้อมแบบอื่นเลยก็ได้

     นิ้วตีนนก ส่วนใหญ่มีนิ้วตีน 4 นิ้ว โดยมี 3 นิ้วอยู่ด้านหน้า และนิ้วหัวแม่ตีนอยู่ทางด้านหลัง สำหรับใช้เกาะกิ่งไม้หรือยืดตัวเมื่อยืนหรือเดิน แต่นกที่อยู่ตามพื้นดิน เช่น นกกระแตแต้แว้ด มีนิ้วหัวแม่ตีนเล็กลงเพราะว่าไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วหัวแม่ตีนเกาะกิ่งไม้ ส่วนนกที่บินไม่ได้และชอบวิ่งไปตามพื้นดิน เช่น นกกระจอกเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ตีนวิ่งหลบหลีกภัยอย่างรวดเร็วเสมอ นิ้วตีนจึงเหลือเพียงนิ้วด้านหน้า 2 นิ้วเท่านั้น

     นกที่หากินตามแหล่งน้ำก็มีนิ้วตีนต่างกัน นกเป็ดน้ำมีแผ่นพังผืดขึงติดอยู่ระหว่างนิ้วทั้งสามเพื่อใช้ว่ายน้ำ แต่ไม่ขึงไปถึงนิ้วหัวแม่ตีน ส่วนนกกาน้ำและนกกระทุงที่มีพังผืดสำหรับว่ายน้ำเช่นกัน จะมีพังผืดขึงติดตลอดทั้ง 4 นิ้ว เวลาที่เกาะกิ่งไม้นกจะใช้นิ้วทั้งสี่จับไปข้างหน้ารอบๆ กิ่งไม้ สำหรับนกเป็ดผีและนกคู้ท มีหนังเป็นแผ่นบางๆ คล้ายกับใบพายที่นิ้วด้านหน้าทุกนิ้ว ช่วยให้ดำและว่ายน้ำได้ดี นกที่เดินหากินบนจอกแหน เช่น นกพริก มีนิ้วทั้งสี่ยาวเป็นพิเศษ และมีเล็บที่ยาวตรงออกไปอีก ทั้งนี้เพื่อช่วยพยุงตัวให้เดินบนจอกแหนได้โดยไม่จมลงไปในน้ำ

     นกที่หากินตามลำต้น เช่น นกหัวขวานและนกไต่ไม้ มีขาสั้นและแข็งแรงช่วยให้ไต่ตามต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนใหญ่นกหัวขวานมีนิ้วตีนอยู่ด้านหน้า 2 นิ้วและด้านหลัง 2 นิ้ว สำหรับเกาะต้นไม้ในแนวดิ่ง โดยมีขนหางแข็งไว้คอยค้ำจุนอีกด้วย

     เกล็ดขา เกล็ดที่ปกคลุมขานกเป็นโครงสร้างหนึ่งของนกที่คล้ายกับสัตว์เลื้อยคลาน เกล็ดขาของพวกเป็ดและนกชายเลนมีขนาดเล็กเรียงตัวโดยที่ขอบของเกล็ดมาชนต่อกัน เกล็ดของนกกระจอกเรียงเป็นแผ่นซ้อนกันไป นกกางเขนมีเกล็ดเป็นปลอกขนาดใหญ่คลุมส่วนขาไว้ ส่วนนกอินทรีและนกเค้าบางชนิดจะมีขนปกคลุมขาจนกระทั่งถึงนิ้วตีน

     เล็บ เล็บนกยื่นออกมาจากปลายนิ้ว มีรูปร่างต่างกันตามหน้าที่ เช่น เหยี่ยวมีเล็บแหลมคมสำหรับฉีกเนื้อสัตว์เป็นอาหาร นกยางมีเล็บเป็นซี่ๆ สำหรับแต่งขน สำหรับลูกนกโฮทซิน ( Hoatzin ) ที่อาศัยอยู่แถบป่าอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ มีเล็บอยู่ที่ปีก ลูกนกจะใช้เล็บสำหรับเกาะปีนต้นไม้ในช่วงที่ยังบินไม่ได้ เมื่อโตขึ้นเล็บนี้จะหายไป

     เดือยนก ตัวผู้หลายชนิด โดยเฉพาะพวกไก่ จะมีเดือยอยู่ทางด้านหลังของขาไว้ใช้ต่อสู้กับศัตรู แกนข้างในเดือยเป็นกระดูกและมีปลอกแข็งหุ้มอยู่ นกบางชนิดมีเดือยมากกว่า 1 อัน



ภาพแสดงลักษณะและการจัดเรียงนิ้วเท้าลักษณะต่าง ๆ 
(A) นิ้วกลีบสำหรับเดินบนพืชน้ำและใช้ในการว่ายน้ำของพวกนกคู๊ท นกเป็ดผี 
(B) การจัดเรียงนิ้วเท้าแบบนิ้วคู่สลับเพื่อช่วยในการเกาะต้นไม้ในแนวดิ่งของพวกนกหัวขวาน 
(C) นิ้วยาวเพื่อช่วยให้เดินและทรงตัวได้ดีในดินโคลนของพวกนกยาง 
(D) นิ้วสำหรับจับเหยื่อของพวกเหยี่ยว 
(E) นิ้วที่มีพังผืดเชื่อมติดกันแบบตีนพัดเต็มเพื่อช่วยในการว่ายน้ำของพวกนกเป็ดน้ำ 
(F) นิ้วสำหรับการเดินบนพื้นดินของพวกไก่และไก่ฟ้า 
(G) นิ้วคี่ต่างของนกในอันดับนกเกาะคอนช่วยในการเกาะกิ่งไม้ได้ดี 
(H) นิ้วที่มีขนปกคลุมเพื่อป้องกันความเย็นของนกเค้าหิมะ และ 
(I) นิ้วที่มีนิ้วเท้า 2 นิ้วเพื่อช่วยให้สามารถเดินและวิ่งได้คล่องตัวขึ้นของกระจอกเทศ


การรับความรู้สึก

     นกก็เหมือนสัตว์ทั่วไปที่จำเป็นต้องมีประสาทรับความรู้สึกที่ดี ประสาทรับความรู้สึกของนกบางอย่างอาจถูกดัดแปลงจนมีประสิทธิภาพดีกว่าของสัตว์อื่น โดยเฉพาะในส่วนของการมองและได้ยิน ทั้งนี้เพื่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอดในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบิน หากิน หรือหลบหลีกศัตรู จำเป็นต้องพึ่งประสาทรับความรู้สึกทั้งสิ้น

     ตานก นกมีตาขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว นกที่หากินกลางวันมีลูกตารูปทรงกลมหรือแบน ส่วนนกหากินกลางคืนมีลูกตาทรงกระบอก นกมีหนังตาชั้นที่ 3 เป็นอวัยวะเด่นที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ใช้สำหรับเปิดปิดนัยน์ตาแทนการกระพริบตาด้วยหนังตาชั้นนอก และช่วยป้องกันตาเมื่อนกบินปะทะลมหรือดำน้ำ

     ตำแหน่งของดวงตา ตำแหน่งของดวงตาบนหน้ามีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของนกมาก นกที่ชอบหากินตามพื้นดิน เช่น นกพิราบ มีตาอยู่ด้านข้าง เพื่อมองหาอาหารหรือศัตรูได้รอบตัว ส่วนนกล่าเหยื่อมีดวงตาใหญ่ค่อนไปทางด้านหน้า ช่วยให้มองเหยื่อและกะระยะได้ดี รวมทั้งยังสามารถมองเห็นได้ไกล นกที่เดินหากินอยู่ตามหนองน้ำ เช่น นกยาง มีตาค่อนมาทางด้านล่าง เพื่อมองหาเหยื่อซึ่งอยู่ในที่ต่ำกว่าระดับตา เมื่อมีศัตรูนกยางต้องชูคอขึ้นเพื่อให้มองเห็นภาพด้านหน้า สำหรับนกปากซ่อม ซึ่งเวลาหาอาหารไม่จำเป็นต้องใช้ตาช่วย เพราะมีประสาทสัมผัสอยู่ปลายปากที่ใช้ทิ่มลงไปในเลนเพื่อหาอาหาร ดังนั้นตาของนกปากซ่อมจึงค่อนไปอยู่ด้านท้าย เพื่อระวังภัยจากศัตรู

     พื้นที่การมองเห็น นกแต่ละชนิดมีพื้นที่ที่ตามองเห็นไม่เท่ากัน นกพิราบมองเห็นภาพได้กว้างที่สุดถึง 340 องศา เหยี่ยวมองเห็นภาพด้านหน้าได้มาก แต่เห็นด้านข้างน้อยกว่า เหยี่ยวจึงจำเป็นต้องหันหัวช่วยในการมองขณะที่ตานกเค้าอยู่ด้านหน้า ทำให้มองได้ไม่เกิน 90 องศา แต่ตาสองข้างของนกเค้าก็รับภาพร่วมกันเกิดเป็นภาพสามมิติ ช่วยกะระยะได้อย่างแม่นยำ

     การรับรู้เสียง หูของนกได้รับการพัฒนาอย่างมาก และทำงานประสานกับประสาทการทรงตัว นกไม่มีใบหู หูนกเป็นช่องอยู่ตรงข้างหัว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก เป็นช่องนำคลื่นเสียงเข้าสู่เยื่อแก้วหู แล้วส่งต่อไปยังหูชั้นกลาง และถ่ายทอดผ่านเยื่อบาง ๆ ที่กั้นอยู่ไปสู่หูชั้นใน พวกนกเค้าที่หากินกลางคืนมีโครงสร้างของหูไวต่อเสียงมาก ทำให้ในที่มืดไม่ว่าเหยื่อจะเคลื่อนไหวอย่างเงียบกริบสักเพียงใด นกเค้าก็ยังสามารถได้ยินเสียงและรู้ตำแหน่งของเหยื่อได้

     การรับรู้กลิ่น ความสามารถในการรับรู้กลิ่นของนกมีน้อย เนื่องจากได้รับการพัฒนาน้อยมาก แต่นกกีวีในนิวซีแลนด์มีการรับรู้กลิ่นดีมาก เพราะนกกีวีสายตาไม่ค่อยดีและออกหากินในตอนกลางคืน จึงต้องใช้การดมกลิ่นในการหาอาหาร โดยใช้รูจมูกที่ติดอยู่ตอนปลายของปากสูดกลิ่นดินที่ขุดลงไป เพื่อหาไส้เดือนเป็นอาหาร แร้งก็เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่มีการรับรู้กลิ่นดีกว่านกชนิดอื่น

     การรับรู้สัมผัส นกไม่สามารถรับรู้สัมผัสได้ดี เพราะผิวหนังของนกมีขนปกคลุมอยู่ แต่นกก็มีเซลล์รับความรู้สึกสัมผัสเหมือนกัน ส่วนมากอยู่บริเวณปาก โดยเฉพาะนกที่ต้องหาอาหารด้วยวิธีใช้ปากทิ่มลงไปในเลน เช่น นกชายเลน ต้องใช้การรับรู้สัมผัสช่วยด้วยเวลาหาอาหาร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น